เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2562 , view 2765 ครั้ง
- วัฒนธรรมอาข่าโล้ชิงช้า เดือนสิงหาคม พื้นที่หมู่ 10
ประเพณีโล้ชิงช้า แย ขู่ อา แผ่ว งานเทศกาลประเพณีโล้ชิงช้า เป็นเทศกาลที่ศักดิ์สิทธิ์ สืบสานตำนานหลายพันปีมาแล้ว ถือว่าเป็น “วันแม่ชนเผ่าอาข่า” และเป็นเทศกาลที่จัดงานหลังฤดูการเพาะปลูก แต่เดิมจัดงานเป็นเวลา 33 วัน ปัจจุบันเหลือ 4 วัน คือ
วันที่ 1″ จ่าแบ”ผู้หญิงอาข่าอาจเป็นแม่บ้านของครัวเรือน หรือถ้าแม่บ้าน ไม่อยู่อาจเป็นลูกสาวไปแทนก็ได้ ก็จะแต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่าเต็มยศแล้วออกไปตัดน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อจะนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาน้ำที่ตักมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อ่าข่าเรียกว่า “อี๊จุอี๊ซ้อ”การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของแต่ละครอบครัว และในวันนี้ก็มีการตำข้าวปุ๊ก “ห่อถ่อง”ข้าวปุ๊ก หรือห่อถ่อง คือข้าวที่ได้จากการตำอย่าง ละเอียดโดยก่อน ที่จะตำก็จะนำข้าวสาร (ข้าวเหนียว) แช่ไว้ประมาณ 1 คืน พอรุ่งเช้าก็นำมานึ่ง หลังจากนึ่งเสร็จ หรือได้ที่แล้วก็จะมีการโปรยด้วยน้ำอีกรอบหนึ่ง แล้วก็นึ่งต่อระหว่างที่รอข้าวสุก ก็จะมีการ ตำงาดำผสมเกลือไปด้วย เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวที่ตำติดมือเวลานำมาปั้นข้าวปุ๊กซึ่งต้องใช้ในการทำพิธีเช่นกัน
วันที่ 2 วันสร้างชิงช้าเป็นวันที่ทุกคนจะมารวมตัวกันที่บ้านของ“โจว่มา”ผู้นำศาสนา เพื่อ
จะปรึกษา และแบ่งงานในการจะปลูกสร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชน หรืออ่าข่า เรียกว่า “หล่าเฉ่อ”ในวันนี้จะไม่มีการทำพิธีใดๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งสัตว์ก็จะไม่ฆ่า หลังจากที่สร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชนเสร็จ ก็จะมีพิธีเปิดโล้ชิงช้าโดยโจว่มา ผู้นำศาสนา จะเป็นผู้เปิดโล้ก่อนจากนั้นทุกคนก็สามารถโล้ได้หลังจากที่สร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชนเสร็จ ต้องมาสร้างชิงช้าเล็กไว้ ที่หน้าบ้าน ของตนเองอีกเพื่อให้ลูกหลานของตนเล่น ทุกครัวเรือนจะต้องสร้างเพราะถือว่าเป็นพิธี
วันที่ 3 “วัน ล้อดา อ่าเผ่ว” วันนี้ถือเป็นวันพิธีใหญ่ มีการเลี้ยงฉลองกันทุกครัวเรือนมีการ
เชิญผู้อาวุโส หรือแขกต่างหมู่บ้านมาร่วมรับประทานอาหารในบ้านของตน ผู้อาวุโสก็จะมี การอวยพรให้กับเจ้าบ้านประสบแต่ความสำเร็จในวันข้างหน้า
วันที่ 4 “จ่าส่า”สำหรับในวันนี้จะไม่มีการประกอบพิธีกรรมอะไรทั้งสิ้น นอกจากพากันมาโล้
ชิงช้าแต่พอตะวันตกดิน หรือประมาณ 18.00 น ผู้นำศาสนาก็จะทำการเก็บเชือกของชิงช้าโดยการมามัดติดกับเสาชิงช้า ถือว่าบรรยากาศในการโล้ชิงช้าก็จะได้จบลงเพียงเท่านี้ และหลังอาหารค่ำก็จะทำการเก็บเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ เข้าไว้ที่เดิม หลังจากที่เก็บเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้แล้วถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรมประเพณีโล้ชิงช้า
- วัฒนธรรมลาหู่ (เขาะหน่อย) เดือนกุมภาพันธ์ พื้นที่หมู่ 11
เป็นพิธีการเฉลิมฉลองปีใหม่ ในภาษาลาหู่(มูเซอ) เรียกว่า ประเพณี เขาะเจ๊าเว ซึ่งแปลว่า "ปีใหม่การกินวอ" ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่บรรดาญาติมิตร ได้กลับมาร่วมงานกันที่บ้านอย่างพร้อมเพรียงเรียงหน้า ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลเมื่อทราบว่าทางหมู่บ้านตัวเองจะจัดงานดังกล่าวก็จะกลับมาร่วมกัน เทศกาลของลาหู่ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แตกต่างจากชนเผ่าอื่นๆ ซึ่งปีใหม่หรือการกินวอนี้ มีความสำคัญต่อชาวลาหู่อย่างยิ่ง เพราะเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเผ่าเสียเป็นส่วนมาก
- รดน้ำดำหัว เทศกาลวันสงกรานต์
เป็นประเพณีที่ดีงามอีกประเพณีหนึ่ง ที่ประชาชนชาวไทยถือปฏิบัติสืบเวลาที่ยาวนาน ซึ่งการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ หรือญาติผู้ใหญ่ บุคคลผู้ที่ตนให้ความเคารพนับถือ การรดน้ำดำหัวนั้นจะเป็นการขอโทษขออภัย ซึ่งกันและกัน ที่เคยล่วงเกินกันในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการล่วงเกินทางกาย ล่วงเกินทางวาจาหรือว่าการล่วงเกินทางใจ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ต่อหน้าหรือว่าลับหลังก็ตาม ประเพณีรดนำดำหัว หรือบางครั้งก็เรียกว่า ประเพณีปีใหม่เมืองจะมีในระหว่าง วันที่ 13 15 เดือนเมษายนของทุกปี หรือวันสงกรานต์นั่นเอง
- เชิดสิงโต
เป็นการละเล่นของชาวจีนเหนือ และจีนใต้ทางเหนือ นิยมเล่นกันในช่วงตรุษจีน นอกจากจะเล่นกันในช่วงมีงานแห่เจ้าแล้ว แม้แต่พิธีเซ่นสังเวยเพื่อขอฝน หลังงานเทศการงานชุมนุมใหญ่ก็จะต้องมี รายการเชิดสิงโตด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคล
- เต้นจีนยูนานแบบประยุกต์
เป็นการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุที่มีเวลาว่างออกมาเต้นรำกันเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเป็นการออกกำลังกาย การเต้นในที่สาธารณะมีต้นทุนต่ำคนทั่วไปเข้าถึงได้ อีกทั้งยังจับกลุ่มกันเต้น นัดซ้อมเป็นเวลา เป็นการได้เพื่อนใหม่ๆ ไปด้วย
- ไทเก็ก
ไทเก็กคือศิลปะการป้องกันตัวของจีนที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “Meditation in Motion” หมายถึง การทำสมาธิในขณะเคลื่อนไหว โดยในปัจจุบันนี้นับเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับลมหายใจคล้ายการทำสมาธิร่วมกับการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้า ๆ และสง่างาม จากท่าหนึ่งสู่อีกท่าหนึ่งโดยไม่หยุดเคลื่อนไหว ซึ่งแต่ละท่าได้แรงบันดาลใจมาจากท่าของสัตว์ เช่น ท่ากะเรียนขาวสยายปีก เป็นต้น
- ฟ้อนไทใหญ่
เป็นศิลปะการแสดงฟ้อนรำของชนเผ่าไทยใหญ่ที่มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมานานว่า เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อสมัยพุทธกาล ถือเป็นประเพณีสำคัญที่ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรม และร่วมรับความสนุกสนานโดยทั่วหน้า เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในเทศการออกพรรษาไทยใหญ่ที่ปฏิบัติสืบทอดต่อๆ กันมา
- ฟ้อนเล็บ
เป็นการฟ้อนของชาวไทยภาคเหนือการแสดงจะมีดนตรีบรรเลงประกอบ โอกาสที่แสดง ในงานเทศกาลหรืองานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ ฟ้อนเล็บเป็นศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ทางภาคเหนือโดยเฉพาะรูปแบบการฟ้อนมีอยู่ ๒ แบบ คือแบบพื้นเมืองหรือฟ้อนเมือง และแบบคุ้มเจ้าหลวง นิยมฟ้อนในเวลากลางวัน สำหรับชื่อชุดการแสดงจะมีความหมายตามลักษณะของผู้แสดงที่จะสวมเล็บยาวสีทองทุกนิ้ว ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น